รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • วิทยาลัยธาตุพนม จัดเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม สานสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 9 มุ่งพัฒนาองค์ความรู้วิชาชีพเชิงพาณิชย์

วิทยาลัยธาตุพนม จัดเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม สานสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 9 มุ่งพัฒนาองค์ความรู้วิชาชีพเชิงพาณิชย์

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2024-02-15 19:36:12 472

วิทยาลัยธาตุพนม จัดเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม สานสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 9 มุ่งพัฒนาองค์ความรู้วิชาชีพเชิงพาณิชย์

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น. วิทยาลัยธาตุพนม มหาวิทยาลัยนครพนม จัดงาน “การประกวดสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม สานสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 9” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.กรไชย พรลภัสรชกร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยนครพนม เป็นประธานเปิดงาน มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์จุฑามาศ ใจสบาย ผู้อำนวยการวิทยาลัยธาตุพนม กล่าวรายงาน ณ วิทยาลัยธาตุพนม มหาวิทยาลัยนครพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

รองศาสตราจารย์ ดร.กรไชย พรลภัสรชกร กล่าวชื่นชมคณะกรรมการจัดโครงการรวม ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการวิจัย พัฒนา นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยี ให้นักเรียน นักศึกษา นำความรู้ไปบูรณาการวิจัย สร้างนวัตกรรมพัฒนาองค์ความรู้ในด้านวิชาชีพ และสามารถนำไปประกอบอาชีพเชิงพาณิชย์ในอนาคต การจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่นักเรียน นักศึกษา ได้มีเวทีสำหรับการแสดงและเผยแพร่ผลงาน องค์ความรู้ ความสามารถต่อสารธารณชน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ และสร้างแรงจูงใจให้ นักเรียน นักศึกษา มีแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์จุฑามาศ ใจสบาย กล่าวว่า “การประกวดสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม สานสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 9” ได้รับความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาต่าง ๆ อาทิ วิทยาลัยสงฆ์นครพนม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 41 นครพนม ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอธาตุพนม สำนักงานอาชีวศึกษา จังหวัดนครพนม สำนักงานอาชีวศึกษา จังหวัดมุกดาหาร และพลังงานจังหวัดนครพนม 

ส่วนการประกวด มีการแบ่งประเภทการประกวด ออกเป็น 10 ประเภท ได้แก่ โครงงานด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือการงานอาชีพ (ระดับมัธยมศึกษา) ,สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านเทคโนโลยีการเกษตร (ระดับ ปวช.) ,สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม งานวิจัยด้านบริหารธุรกิจ ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (ระดับ ปวช.) ,สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านเทคโนโลยีการเกษตร (ระดับ ปวส.) ,สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม งานวิจัยด้านบริหารธุรกิจ ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (ระดับ ปวส.) ,สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม งานวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปริญญาตรี) ,สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม งานวิจัย มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (ปริญญาตรี) ,การสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบสำหรับธุรกิจการเป็นผู้ประกอบการ (ระดับ ปวช.) ,การสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบสำหรับธุรกิจการเป็นผู้ประกอบการ (ระดับ ปวส.) และการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบสำหรับธุรกิจการเป็นผู้ประกอบการ (ปริญญาตรี) มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวด 135 ผลงาน จาก 13 สถาบัน 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และผลงานวิจัยของนักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จนสามารถนำไปสู่การต่อยอด หรือสร้างสรรค์ให้เป็นผลงาน สู่การนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ หรือเชิงพาณิชย์ ผลักดันให้เกิดเครือข่ายทางด้านสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และผลงานวิจัยในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม 

ภาพ/ข่าว : พัฒนะ พิมพ์แน่น 

HOT LINK