รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • ม.นครพนม ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการ โครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์และคณะด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ

ม.นครพนม ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการ โครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์และคณะด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2024-01-22 11:32:57 545

ม.นครพนม ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการ โครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์และคณะด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ

วันที่ 21 มกราคม 2567 มหาวิทยาลัยนครพนม ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการ โครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์และคณะด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยมี ศ.ดร.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการ ให้เกียรติเป็นประธาน มีคณะอนุกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย ผศ.ดร.รุ้งลาวัลย์ เอี่ยมกุศลกิจ ผศ.ดร.วุฒิชัย กันนุฬา ผศ.ดร.สมสมร เรืองวรบูรณ์ และอาจารย์ดวงใจ บุญคง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องแพงพนม ชั้น 4 อาคารสารสนเทศเพื่อการบริหาร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม (เขตพื้นที่ศรีโคตรบูรณ์)

การประชุมครั้งนี้ ทีมคณะอนุกรรมการได้นำผลการประชุมของวันที่ 20 มกราคม 2567 รายงานความก้าวหน้าโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ต่อที่ประชุมได้รับทราบ พร้อมร่วมกันระดมความคิดเห็นรูปแบบการโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ ด้าน ศ.ดร.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น อุปนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวว่า หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยนครพนม จะต้องมีความแตกต่างในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตจากสถาบันอื่น ๆ และสิ่งที่ตกผลึกหลังพูดคุยในที่ประชุม มหาวิทยาลัยนครพนมจะมุ่งสู่การผลิตแพทย์เพื่อดูแลประชาชนในระดับปฐมภูมิ อยู่ใกล้ชิดกับคนไข้ที่อยู่ในครอบครัว ชุมชน บูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันกับแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อทำให้คนไม่เป็นโรค เป็นการเฝ้าระวังจากต้นทางเพื่อไม่ให้เกิดโรค หรือเป็นโรคที่พึ่งพิงยาแผนปัจจุบันน้อยที่สุด และการดูแลคนไข้จะเชื่อมโยงกับมิติสุขภาพด้านอื่น ๆ การใช้ชีวิตของคนไข้ต้องไม่พึ่งโรงพยาบาลอย่างเดียว การดูแล การรักษาจะอยู่ที่บ้านแทน เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตธรรมชาติของประชาชน 

“หลักสูตรของเราต้องสร้างความแตกต่างและให้สอดคล้องกับแผนของสาธารณสุขในปัจจุบัน ชาวนครพนมอยากให้พื้นที่ของเรามีโรงเรียนแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ ศูนย์บริการทางการแพทย์ที่ให้บริการประชาชนในเขตพื้นที่และกลุ่มจังหวัด ด้วยเศรษฐกิจของนครพนมกำลังเติบโตที่พร้อมกับการก้าวข้ามไปสู่เมืองหลักด้านการท่องเที่ยว GDP ภาพรวมของจังหวัดก็จะสูงขึ้นไปด้วย การมีนักศึกษาแพทย์ก็ดี หรือมีศูนย์บริการทางการแพทย์ในพื้นที่ จะเป็นการตอบโจทย์ทางด้านสุขภาพให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี คณะกรรมการเราคุยกันแล้ว และเห็นว่าความร่วมมือในการทำหลักสูตรแพทย์ควรเป็นความร่วมมือกับโรงพยาบาลในพื้นที่ นั่นก็คือโรงพยาบาลนครพนม เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของจังหวัดในการผลิตนักศึกษาแพทย์ และเป็นศูนย์ให้บริการด้านการแพทย์ของมหาวิทยาลัยนครพนม

หลักสูตรเราคุยกับเกือบเสร็จแล้ว แต่ด้วยหลักสูตรต้องดำเนินการร่วมกับศูนย์แพทย์ ขั้นตอนต่อไปเราต้องมีความชัดเจนในการพัฒนาหลักสูตรภายใต้ศักยภาพของจังหวัด เพื่อปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยเราต้องการแพทย์ที่ดูแลปฐมภูมิ ครอบครัว แพทย์ที่อยู่ใกล้ชิดกับคนไข้ ดูแลคนไข้ เป็นคนที่สามารถเชื่อมโยงกับครอบครัวคนไข้ได้ คนไข้อยู่กับครอบครัว ชุมชน กับระบบสาธารณสุข Lifestyle Medicine และ Family medicine คือ แพทย์ที่บูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันกับแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อทำให้คนไม่เป็นโรค เพราะแพทย์ปัจจุบันจะเน้นรักษาคนที่เป็นโรคแล้ว แต่ของเราจะเป็นการเฝ้าระวัง จะทำอย่างไรให้คนไม่เป็นโรค หรือเป็นโรคที่พึ่งพิงกับยาแผนปัจจุบันน้อยที่สุด และการดูแลสุขภาพให้เชื่อมโยงกับมิติสุขภาพด้านอื่น ๆ ด้วย การใช้ชีวิตแต่ละคนที่ไม่ต้องพึ่งโรงพยาบาล คนไข้รักษาตัวที่บ้าน ซึ่งมีหลายมิติที่อยู่ในนี้ ซึ่งมันจะตรงกับนครพนมด้วย การออกกำลังกาย การรักษาสภาวะทางจิตใจ อาหาร การกินอยู่ หรือใช้การรักษาด้วยวิธีทางธรรมชาติสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน ซึ่งจะตอบโจทย์สังคมหลังโควิดต่อจากนี้ 

หลักสูตรนี้เราวางแผนให้สอดคล้องกับบริบทของจังหวัดนครพนม และพื้นที่ใกล้เคียงที่ปัจจุบันยังไม่มีคณะแพทยศาสตร์ ทำให้เขตพื้นที่นี้เรายังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพของประชาชนอยู่มาก”

ผศ.ดร.รุ้งลาวัลย์ เอี่ยมกุศลกิจ รองอธิการบดี และคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ฯเปิดเผยว่า ขณะนี้ในเรื่องของข้อมูลหลักสูตรมีความชัดเจนในระดับหนึ่ง ซึ่งต่อจากนี้จะเป็นการพูดคุยหารือการทำหลักสูตรร่วมกับโรงพยาบาลที่ร่วมผลิตนักศึกษาแพทย์ในพื้นที่ และจะเข้าสู่กระบวนการต่าง ๆ ตามขั้นตอน ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป 

ภาพ/ข่าว : พัฒนะ พิมพ์แน่น

HOT LINK