รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • ทีมนักวิจัยจาก 3 มหาวิทยาลัยของไทย ค้นพบเห็ดราชนิดใหม่ของโลก 12 ชนิด

ทีมนักวิจัยจาก 3 มหาวิทยาลัยของไทย ค้นพบเห็ดราชนิดใหม่ของโลก 12 ชนิด

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2021-09-15 14:24:58 769

ทีมนักวิจัยจาก 3 มหาวิทยาลัยของไทย ค้นพบเห็ดราชนิดใหม่ของโลก 12 ชนิด

ทีมนักวิจัยจาก 3 มหาวิทยาลัย นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฎฐิกา สุวรรณาศรัย อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, น.ส.นิวนา หวังสวัสดิ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก, ผศ.ดร.เชิดชัย โพธิ์ศรี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม, ผศ.ดร.รุ้งเพชร แข็งแรง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ร่วมกับศาสตราจารย์ Yu-Ming Ju สถาบัน Academia Sinica ประเทศไต้หวัน และศาสตราจารย์ Anthony J.S. Whalley จากมหาวิทยาลัย Liverpool John Moore ประเทศอังกฤษ ค้นพบราชนิดใหม่ของโลกในสกุลไซลาเรีย (Xylaria) สกุลย่อย (subgenus) Pseudoxylaria วงศ์ (Family) Xylariaceae (Phylum Ascomycota) จำนวน 12 ชนิด โดยพบราเจริญร่วมกับจอมปลวกในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ชัยภูมิ นครราชสีมา และกำแพงเพชร ได้แก่ 

X. chaiyaphumensis

X. conica

X. fulvescens

X. ischnostroma

X. margaretae

X. minima

X. siamensis

X. sihanonthii

X. subintraflava

X. thienhirunae

X. vinacea และ  

X. reinkingii var. microspora

ซึ่งราทั้ง 12 ชนิด ได้ถูกตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จดทะเบียนในฐานข้อมูลเห็ดรานานาชาติ  (Mycobank) และตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ (วารสาร BIOLOGY) เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา (Wangsawat, N.; Ju, Y.-M.; Phosri, C.; Whalley, A.J.S.; Suwannasai, N. Twelve new taxa of Xylaria associated with termite nests and soil from northeast Thailand. Biology 2021, 10, 575. https://doi.org/10.3390/biology10070575; ISI, Q1, Impact Factor=5.079)

ปัจจุบันประเทศไทยมีราสกุลย่อยนี้จำนวน 17 ชนิด (จากที่พบทั่วโลก 40 ชนิด) โดยรากลุ่มนี้ได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ในการศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีคุณค่าทางเภสัชวิทยา และทางการแพทย์ 

การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และยังมีสิ่งที่มีชีวิตที่รอการค้นพบอยู่อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจำพวกเห็ดรา ที่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้าม จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญกับงานวิจัยพื้นฐานการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน อีกทั้งควรศึกษาเพื่อพัฒนาต่อยอดนำไปสู่การใช้ประโยชน์ เพราะสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่เปราะบางอาจสูญพันธุ์ไปก่อนการถูกค้นพบทางวิทยาศาสตร์

ข่าว : งานสื่อสารองค์กร กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม

HOT LINK