เกี่ยวกับ มนพ. : ความเป็นมา

  • Home
  • เกี่ยวกับ มนพ. : ความเป็นมา

ความเป็นมา มหาวิทยาลัยนครพนม

สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างไม่เป็นทางการที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อ วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2545 ฯพณฯ พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เสนอว่าควรมีการพิจารณาหาระบบและแนวทางให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งมีการเชื่อมโยงกับชุมชนในระดับรากหญ้า โดยมิใช่เป็นการจัดตั้งวิทยาเขตของสถาบัน และมีการก่อสร้างอาคารเรียนขึ้นใหม่ที่เป็นการเน้นในแง่วัตถุ โดยเห็นว่าสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมีอาคารและสถานที่ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างจำนวนมากตามจังหวัดต่าง ๆ แต่ยังขาดการบริหารจัดการที่ดีในการใช้ประโยชน์จากอาคารสถานที่เหล่านี้อย่างเต็มที่ ที่ประชุมจึงได้มีมติมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนั้น คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและพิจารณาทบทวน โดยมีนโยบายว่าหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาอยู่ที่วิธีการเรียนการสอนและวิธีการจัดการ ต้องเร่งสร้างความตระหนักในเรื่องประสิทธิภาพการบริหารจัดการเป็นสำคัญ โดยเน้นการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพโดยไม่ต้องลงทุนก่อสร้างอาคารเรียนที่มีราคาแพง    

การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาจังหวัดนครพนม นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสแก่ประชาชนในจังหวัดให้ได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นจุดเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอินโดจีนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อันจะส่งผลต่อการเสริมสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ของประเทศต่อไป ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2545 สถาบันอุดมศึกษาจังหวัดนครพนมได้ใช้หลักการหลอมรวมสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนครพนม ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2545 เพื่อดำเนินการยกร่างโครงการจัดทำแผนแม่บทและร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนครพนมเสนอที่ประชุมจึงได้ให้ความเห็นชอบโครงการนำร่องจัดตั้งมหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนมจึงเป็นมหาวิทยาลัยที่เกิดจากการหลอมรวมสถานศึกษาในจังหวัดนครพนม ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนครพนม พ.ศ. 2548 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 122 ตอนที่ 75 ก เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2548 และมีผลให้มหาวิทยาลัยนครพนมได้รับการยกฐานะเป็น “มหาวิทยาลัยนครพนม” ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2548 โดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัตินั้นให้รวม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครพนม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาเขตนครพนม วิทยาลัยเทคนิคนครพนม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครพนม วิทยาลัยการอาชีพธาตุพนม วิทยาลัยการอาชีพนาหว้า และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม มาจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยนครพนม และให้มหาวิทยาลัยนครพนมเป็นนิติบุคคล และเป็นส่วนราชการตามกฎหมาย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ     

มหาวิทยาลัยนครพนมดำเนินภารกิจภายใต้ภารกิจเดิมของสถานศึกษาที่นำมาหลอมรวม จัดการศึกษา  ทั้งในระดับหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส) หลักสูตรปริญญา ภายใต้ภาระกิจการหลอมรวมสถานศึกษาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งแตกต่างจาก สถาบันอุดมศึกษาเดิมที่จัดตั้งสถาบันขึ้นมาใหม่



ปรัชญา

พัฒนาตน ตื่นรู้ รับใช้สังคม
Develop yourself to be aware of social servants


วิสัยทัศน์

มหาวิทยาลัยนครพนมเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน
Nakhon Phanom University is the dependency of society and community


เอกลักษณ์

สร้างสรรค์สังคมพหุวัฒนธรรม
Multicultural Societal Creativity


อัตลักษณ์

มีจิตสาธารณะ พร้อมทักษะการทำงาน

Public mind and working skills

ค่านิยมหลัก

Network : ทำงานเป็นเครือข่าย

Professional : ความเป็นมืออาชีพ

Unity : ความเป็นหนึ่งเดียว

(N P U = "มหาวิทยาลัยนครพนมทำงานเป็นเครือข่ายอย่างมืออาชีพ เป็นหนึ่งเดียว"


 พันธกิจ

พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนครพนม พ.ศ. 2548 ได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาและวิจัยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพขั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ภายใต้พันธกิจ 5 ด้านประกอบด้วย (1) ด้านการบริหารจัดการองค์กร (2) ด้านการผลิตบัณฑิต (3) ด้านการวิจัย (4) ด้านการบริการวิชาการ (5) ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และเพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย จึงได้กำหนดนโยบายของพันธกิจแต่ละด้าน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1) พันธกิจด้านการบริหารจัดการองค์กร

- เป็นองค์กรที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี

- บริหารจัดการทรัพยากรของมหาวิทยาลัยให้มีการสร้างรายได้เพื่อการพึ่งพาตนเองด้านงบประมาณให้มากขึ้น และปฏิรูประบบการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นกลไกขับเคลื่อนการก้าวไปสู่เป้าหมายของมหาวิทยาลัย

- ปฏิรูประบบบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อให้บุคลากรมีสมรรถนะสูงและมีความผาสุกเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยไปสู่เป้าหมาย รวมทั้งใช้ศักยภาพของผู้เกษียณอายุราชการ

- พัฒนาระบบสารสนเทศให้เชื่อมโยงกันเพื่อให้สามารถจัดการข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารทุกระดับ

- พัฒนาบุคลากรสายสนับสนุนให้มีทักษะในการทำงานที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และสามารถใช้ผลงานในการเข้าสู่ตำแหน่งชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ และเชี่ยวชาญ

- พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งภูมิทัศน์ของมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวและยั่งยืน


2) พันธกิจด้านการผลิตบัณฑิต

- พัฒนาระบบรับเข้านักศึกษาในทุกระดับเพื่อให้ได้ผู้เข้าคึกษาที่มีคุณภาพสูง และเพิ่มสัดส่วนบัณฑิตศึกษาที่เน้นการผลิตบัณฑิตเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนไปสู่มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่

- มีหลักสูตรที่ทันสมัย ได้มาตรฐาน และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนครพนมเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” และมีทักษะที่สอดคล้องกับทักษะในศตวรรษที่ 21

- พัฒนาคุณวุฒิและตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านวิชาการ

- สร้างบัณฑิตที่จบการศึกษาให้มีอัตลักษณ์ มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีพื้นฐานด้านการวิจัย นวัตกรรม และการพัฒนา

- สร้างสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ พัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของการเรียนรู้ให้มีความพร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ของนักศึกษา ณ สถานที่ไหน เวลาใด และอย่างไรก็ได้เพื่อนำไปสู่การเป็น smart campus


3) พันธกิจด้านการวิจัย

- กำหนดโจทย์วิจัยเพื่อแก้ปัญหาของพื้นที่ และการพัฒนานักวิจัยใหม่ นักวิจัยรุ่นกลาง และนักวิจัยอาวุโส เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานวิจัยอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับงานวิจัยให้มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน และมีคุณภาพที่ได้รับการยอมรับของสังคม

- สร้างความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาและแก้ปัญหาขององค์กรด้วยงานวิจัยที่มีคุณภาพ

- พัฒนาและส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์และแก้ปัญหาทางสังคม


4) พันธกิจด้านการบริการวิชาการ

- ส่งเสริมให้มีการบริการวิชาการที่เชื่อมโยงกับงานวิจัยและความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนางานวิจัยให้เข้มแข็ง และเกิดการบูรณาการกับการเรียนการสอน รวมถึงสร้างความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย

- สร้างเครือข่ายการให้บริการวิชาการกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนตามความเชี่ยวชาญ

- พัฒนาให้เกิดศูนย์กลางการให้บริการในด้านต่าง ๆ ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนกลาง

- ปฏิรูประบบการให้บริการวิชาการของมหาวิทยาลัย โดยจัดให้มีศูนย์กลางการประสานงานและเกิดการบูรณาการร่วมกันของคณะวิชาต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

- พัฒนาอุทยานการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ที่เป็นความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและสังคม


5) พันธกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม

- เป็นศูนย์กลางด้านการอนุรักษ์ ส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และภาษา

- บูรณาการศิลปะและวัฒนธรรมเข้ากับการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ

- พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมของกลุ่มจังหวัดสู่ระดับประเทศ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนกลาง ภูมิภาคอาเซียน และระดับนานาชาติ


 

แผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยนครพนม ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569)

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การบริหารจัดการที่ชาญฉลาดและธรรมาภิบาล (Smart Management and Governance) 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resources/Culture) 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Green and Sustainable Campus) 

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การศึกษาที่เป็นเลิศ (Excellence Academy) 

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : งานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นเลิศ (Research and Innovation Excellence) 

ยุทธศาสตร์ที่ 6 : การผลิตบัณฑิตที่เป็นเลิศ (Excellence Graduate)  

ยุทธศาสตร์ที่ 7 : ศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเลิศ (Excellence Culture Community)

ยุทธศาสตร์ที่ 8 : มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น (Area-Based and Community University)


โครงสร้างองค์กร



โครงสร้างการบริหารมหาวิทยาลัยนครพนม



หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยนครพนม 

มหาวิทยาลัยนครพนมมีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้น จำแนกออกเป็น 3 ประเภท ดังรายละเอียดต่อไปนี้

          1) หน่วยงานที่จัดตั้งตามประกาศกฎกระทรวง

             หน่วยงานที่จัดตั้งตามประกาศกฎกระทรวงว่าด้วย การจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยนครพนม กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2555 จำนวน 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย

              1.1 สํานักงานอธิการบดี

              1.2 วิทยาลัยธาตุพนม

              1.3 วิทยาลัยนาหว้า

              1.4 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม

              1.5 คณะเกษตรและเทคโนโลยี

              1.6 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

              1.7 คณะวิทยาการจัดการและเทคโนโลยีสารสนเทศ

              1.8 คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์

              1.9 สํานักวิทยบริการ

              1.10 สถาบันวิจัยและพัฒนา

         2) หน่วยงานที่จัดตั้งภายในตามพระราชบัญญัติการบริหารส่วนงานภายใน

              หน่วยงานที่จัดตั้งภายในตามพระราชบัญญัติการบริหารส่วนงานภายใน พ.ศ. 2550 โดยมติของสภามหาวิทยาลัยนครพนม จำนวน 7 หน่วยงาน

              2.1 สำนักงานสภามหาวิทยาลัยนครพนม

              2.2 วิทยาลัยการบินนานาชาติ

              2.3 วิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ

              2.4 วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมศรีสงคราม

              2.5 คณะวิทยาศาสตร์

              2.6 คณะวิศวกรรมศาสตร์

              2.7 คณะครุศาสตร์

                            2.7.1  โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยนครพนม พนมพิทยพัฒน์

 

         3) หน่วยงานที่จัดตั้งตามภารกิจและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนครพนม 

             มหาวิทยาลัยนครพนมได้จัดตั้งหน่วยงานภายในตามภารกิจและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนครพนม เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย มีจำนวน 6 หน่วยงาน

              3.1  งานวารสาร

              3.2 งานประกันคุณภาพการศึกษา

              3.3 ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ

              3.4 ศูนย์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

              3.5 โครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเกษตร

              3.6 หน่วยตรวจสอบภายใน



สัญลักษณ์มหาวิทยาลัยนครพนม

ตราสัญลักษณ์
 
 

         ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยนครพนม มีลักษณะเป็นรูปหยดน้ำสีน้ำตาล ประกอบด้วย องค์พระธาตุพนมบนดอกบัวที่ ส่วนล่างของพระธาตุพนมมีซุ้มประตูสี่ทิศบนคลื่นน้ำสีฟ้าจำนวนสามเส้น ภายในองค์พระธาตุพนมเป็นลายดอกบัวเจ็ดดอก โดยทั้งหมดอยู่ในวงรีลักษณะรูปหยดน้ำและภายในมีวงรีสีเหลืองทองสองวง ระหว่างวงรีสีเหลืองทองมีรูปรวงข้าวสีเหลืองทองทั้งสองข้าง ส่วนด้านล่างของตราสัญลักษณ์เป้นรูปฐานสิงห์สีน้ำตาลดัดโค้งตามรูปหยดน้ำ ด้านใต้เป็นชื่อมหาวิทยาลัยภาษาไทยว่า "มหาวิทยาลัยนครพนม" และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า "Nakhon Phanom University"

ความหมายตราสัญลักษณ์
         วงรีรูปหยดนํ้า สื่อความหมายถึง หยดนํ้าหนึ่งหยดที่หลอมรวมกันเป็นแม่นํ้าแห่งการศึกษาเปรียบประดุจการรวมสถานศึกษา มาเป็นมหาวิทยาลัยนครพนม โดยสีนํ้าตาลเป็นสีประจำจังหวัด และ สีเหลืองทองเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย 
         องค์พระธาตุพนมอยู่บนดอกบัว สื่อความหมายถึง การเคารพสักการะองค์พระธาตุพนมอันเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดนครพนมและเป็นตัวแทนของ คุณธรรมที่หลอมรวมใจของบุคคลทุกหมู่เหล่าเข้าไว้ด้วยกัน 
         ซุ้มประตูสี่ทิศ สื่อความหมายถึง ประตูแห่งการศึกษาทั้งสี่ทิศที่เปิดโอกาสให้บุคคลเข้ามาแสวงหาองค์ความรู้ 
         คลื่นนํ้าสีฟ้าจำนวนสามเส้น สื่อความหมายถึง แม่นํ้าโขงซึ่งเป็นแม่นํ้านานาชาติที่ไหล อย่างต่อเนื่องเปรียบประดุจการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่บุคคลทุกชนชาติ
         ลายดอกบัวเจ็ดดอก สื่อความหมายถึง ลายประจำพระธาตุพนมซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณธรรมและจำนวนเจ็ดดอกนั้นเทียบเท่ากับสถานศึกษาทั้งเจ็ดแห่งที่หลอมรวม เป็นมหาวิทยาลัยนครพนม 
         รวงข้าวสีเหลืองทอง สื่อความหมายถึง ความเจริญเติบโตและการรวมกลุ่มกันเพื่อให้เกิด ความสามัคคี เพื่อเป้าหมายแห่งความสำเร็จในการปฏิบัติงานในนาม มหาวิทยาลัยนครพนม 
         ฐานสิงห์ สื่อความหมายถึง ความมั่นคงและยั่งยืนของมหาวิทยาลัยนครพนม


Download ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยนครพนม

Download พระราชกฤษฎีกา กำหนดตราสัญลักษณ์ มหาวิทยาลัยนครพนม พ.ศ.2550

 
     
สีประจำมหาวิทยาลัย ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย พระพุทธรูป
ประจำมหาวิทยาลัย
  

สีเหลืองทอง
สีประจำมหาวิทยาลัย
 


ดอกกันเกรา

ลักษณะออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ เมื่อเริ่มบานจะเป็นสีขาว เมื่อบานเต็มที่จะเป็นสีเหลืองอมแสด ที่กลีบโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก ปลายแฉกแหลม มีเกสรตัวผู้ยาวติดกับกลีบดอก และมีเกสรตัวเมียยาวอีก 1 อัน ออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน




พระพุทธพิทยมงคล
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานนามพระพุทธรูปว่า "พระพุทธพิทยมงคล" มีความหมายว่าพระพุทธรูปที่ประกอบไปด้วยความเจริญรุ่งเรืองแห่งความรู้ พระพุทธพิทยมงคลเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิ หล่อด้วยทองเหลืองปิดทอง ขนาดหน้าตัก 1.2 เมตร ออกแบบโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี

 


HOT LINK