รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • NF ม.นครพนม โชว์ผลงานสำเร็จในเฟส 2 หลังจับมือภาคียุทธศาสตร์จังหวัด จัดการประเด็นขยะและสุขภาพผู้สูงอายุ เกิดนวัตกรรมร่วมชุมชน 25 พื้นที่

NF ม.นครพนม โชว์ผลงานสำเร็จในเฟส 2 หลังจับมือภาคียุทธศาสตร์จังหวัด จัดการประเด็นขยะและสุขภาพผู้สูงอายุ เกิดนวัตกรรมร่วมชุมชน 25 พื้นที่

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2023-05-25 18:33:58 523

NF ม.นครพนม โชว์ผลงานสำเร็จในเฟส 2 หลังจับมือภาคียุทธศาสตร์จังหวัด จัดการประเด็นขยะและสุขภาพผู้สูงอายุ เกิดนวัตกรรมร่วมชุมชน 25 พื้นที่

วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 หน่วยจัดการจังหวัด ระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ (Node flagship) มหาวิทยาลัยนครพนม จัดประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปผลลัพธ์และบทเรียนการดำเนินงาน โครงการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะที่มีจุดเน้นสำคัญ สานพลัง ภาคียุทธศาสตร์ จังหวัดนครพนม โดยมี ดร.คณิน เชื้อดวงผุย รองคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในฐานะผู้จัดการหน่วยจัดการจังหวัด ระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ (Node Flagship) มหาวิทยาลัยนครพนม สรุปภาพรวมผลการดำเนินงานโครงการ ซึ่งมีผู้เข้าอบรมที่เป็นภาคีเครือข่ายเข้าร่วมมากกว่า 100 คน ณ ห้องประชุมพนมศิลป์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม (เขตพื้นที่มรุกขนคร) ต.นาราชควาย อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม

ดร.คณิน เชื้อดวงผุย รองคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในฐานะผู้จัดการหน่วยจัดการจังหวัด ระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ (Node Flagship) จังหวัดนครพนม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมของโครงการครั้งนี้ เป็นการนำภาคีเครือข่ายที่เป็นพื้นที่เป้าหมายจาก 25 โครงการ ซึ่งแบ่งออกเป็น ประเด็นการจัดการขยะ 9 โครงการ และการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ 16 โครงการ มาแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการในพื้นที่ รวมถึงการเสนอแนวทางการต่อยอดของโครงการในอนาคต โดยก่อนหน้านี้หน่วยจัดการจังหวัด ระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ (Node Flagship) มหาวิทยาลัยนครพนม ได้เปิดให้แต่ละชุมชนในท้องถิ่นของจังหวัดนครพนมเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนสนับสนุนดำเนินงาน จนผ่านการคัดเลือกจากคณะทำงานของหน่วยจัดการจังหวัด ระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ (Node Flagship) มหาวิทยาลัยนครพนม จากนั้นได้นำทีมพี่เลี้ยงซึ่งเป็นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนครพนม เข้าไปร่วมกับสมาชิกเครือข่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ปทอ.) เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนงานให้ตรงตามแผนที่กำหนด จนได้ชุดข้อมูลคุณภาพและนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นใน 2 ประเด็น จาก 25 พื้นที่/โครงการ ทำให้พื้นที่ของการดำเนินโครงการมีระบบการบริหารจัดการขยะที่ดีอย่างเป็นรูปธรรม และคุณภาพด้านสุขภาพผู้สูงอายุมีการจัดการในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ทั้งในด้านสภาพจิตใจและสภาพแวดล้อม ดร.คณิน กล่าว

ดร.คณิน ยังกล่าวเสริมอีกว่า ระยะดำเนินงาน 18 เดือนที่ผ่านมา ทางหน่วยจัดการจังหวัด ระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ (Node Flagship) มหาวิทยาลัยนครพนม มีคณะทำงานเพิ่มขึ้นในการขับเคลื่อนงาน และเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมของคนในชุมชน ทำให้ปัญหาขยะมีการจัดการอย่างเป็นระบบ ผู้สูงอายุให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการ ลด ละ เลิก เหล้า-บุหรี่, การบริโภคอาหาร, การดื่มน้ำ และการออกกำลังกาย และผลลัพธ์อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้ มีบุคลากรจากภาคียุทธศาสตร์เข้ามาร่วมเป็นคณะดำเนินงานมากขึ้น ซึ่งถือเป็นกลไกที่สำคัญต่อการผลักดันการทำงานในเชิงนโยบายต่อไปในอนาคต ดร.คณิน กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนาร่วมกับภาคียุทธศาสตร์จังหวัดในหัวข้อ “การสานต่อบทเรียนความสำเร็จในเชิงนโยบาย” จาก นายสมชาย แสนลัง ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุข จ.นครพนม, นายอภิชัย ฤทธิกรรณ์ ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.นครพนม, นายภานุพงษ์ วงศ์จำปา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าลาด อ.เรณูนคร จ.นครพนม และ ดร.พัชราพร ควรรณสุ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์สุขภาพโรงพยาบาลโพนสวรรค์ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม 

จากนั้น ได้เปิดเวทีรับฟังเสียงสะท้อนจากพื้นที่ในหัวข้อ “ประสบการณ์ ความสำเร็จ บทเรียนและสิ่งที่ประทับใจ” จากตัวแทนของพื้นที่ ได้แก่ นางสาวมาริสา ดวงสงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม, จ่าเอกสินธ์สมุทร์ รักษาเคน รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนางัว อ.นาหว้า จ.นครพนม, นางเสาวลักษณ์ เภาพาน ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนตำบลนาคู่ อ.นาแก จ.นครพนม, นางดาวรุณี สุทันท์ ผู้รับผิดชอบโครงการ สุขภาวะผู้สูงอายุ บ้านหนองสะโน อ.ธาตุพนม จ.นครพนม และ นายอิทธิพล บุญบุตร ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม เทศบาลตำบลพระซอง อ.นาแก จ.นครพนม ก่อนที่จะแบ่งกลุ่มย่อยกิจกรรมแลกเปลี่ยนประเด็นในพื้นที่ และการนำเสนอผลการแลกเปลี่ยนของกลุ่ม โดย ผศ.ดร.เบญจยามาศ พิลายนต์ อาจารย์วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการหน่วยจัดการจังหวัด ระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ (Node Flagship) มหาวิทยาลัยนครพนม ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายสุรพล เหลี่ยมสูงเนิน ผู้แทนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เฝ้าร่วมสังเกตการณ์และประเมินผล

สำหรับกิจกรรมภายในงานมีการจัดแสดง ซุ้ม นิทรรศการ สินค้า และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากชุมชนเครือข่าย ซึ่งได้แก่ ผักปลอดสารพิษ น้ำพริกปลาแห้ง ยาหม่องสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยไส้เดือน ผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุขยะรีไซเคิล เป็นต้น พร้อมรับชมการแสดงจากผู้สูงอายุ หมู่ที่ 3 ต.เสาเล้า อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม

ภาพ/ข่าว : พัฒนะ พิมพ์แน่น

อัลบั้มภาพข่าว : https://www.facebook.com/media/set/?vanity=NodeflagshipNKP&set=a.584226960480834

HOT LINK