รอบรั้วกันเกรา

ม.นครพนม ร่วมพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา”

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2023-03-14 20:28:58 614

ม.นครพนม ร่วมพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา”

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 เวลา 15.30 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร ผาสุตะ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนครพนม เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยนครพนม ร่วมพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” โดยมีนายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธาน ณ ศาลาประชาคมยงใจยุทธ ศาลากลางจังหวัดนครพนม 

แบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ถูกมอบให้กับนายอำเภอทั้ง 12 อำเภอ และตัวแทนช่างทอผ้าในพื้นที่จังหวัดนครพนม เพื่อนำไปมอบให้กับช่างทอผ้า เยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนชาวนครพนมนำไปทอผ้า ผลิตผ้า ตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น ย้อนไปเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงเสด็จทอดพระเนตรโครงการ จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของแต่ละจังหวัด โดยมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และกลุ่มสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ประเภทผ้าและหัตถกรรม เข้าร่วมจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ และมีคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ข้าราชการในสังกัดกรมการพัฒนาชุมชน และกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP เฝ้ารับเสด็จฯ ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง พร้อมทรงพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ให้แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย, อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นของขวัญแก่ช่างทอผ้าทุกกลุ่มทุกเทคนิค เยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนคนไทยทุกคน เพื่อการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มพูนรายได้แก่พี่น้องประชาชน รวมถึงการสืบสาน ต่อยอดภูมิปัญญาและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่นให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน เนื่องในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา 

“ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” เป็นลายผ้าที่พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายโบราณจากทุกภูมิภาคของประเทศ แล้วนำมาออกแบบผสมผสานกับ “ลายดอกรัก” ที่สื่อถึงความรักและกำลังใจที่พระองค์ทรงสร้างสรรค์ขึ้น ประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้าบาติก ประเภทที่ 2 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทที่ 3 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้ายก และผ้าบาติก ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พัฒนา “ผ้าบาติกลายพระนามาภิไธยสิริกิติ์” ให้มีความร่วมสมัยและเป็นสากล 

ทั้งนี้ จังหวัดนครพนมได้ดำเนินงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และตามมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย มีการประชาสัมพันธ์รณรงค์ เชิญชวนการแต่งกายด้วยผ้าไทยหรือผ้าพื้นเมืองไปยังทุกส่วนราชการ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้บังเกิดผลโดยพร้อมเพรียงกันทั้งจังหวัด ภายใต้คำขวัญ “ชาวนครพนมภูมิใจ สวมใส่ผ้าไทยทุกวัน” ทำให้เกิดกระแสการใช้และสวมใส่ผ้าไทยจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ผลิตผู้ประกอบการประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายในพื้นที่จังหวัดนคพนม จำนวน 307 กลุ่ม สมาชิกรวม 3,463 ราย มีรายได้จากการจำหน่ายผ้าและเครื่องแต่งกายเป็นจำนวนมาก 

นอกจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชนยังได้มาดำเนินโครงการตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในพื้นที่จังหวัดนครพนม คือ โครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ที่มีการบูรณาการองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผ้าถิ่นไทย โดยผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยระดับประเทศ มีการอนุรักษ์ลายผ้าโบราณและพัฒนามาตรฐาน 67 ลาย มีการออกแบบลวดลายสร้างสรรค์ให้เป็นสากล 30 ลาย โดยผู้เชี่ยวชาญจากทีมที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก มีการเพิ่มมาตรฐานเส้นใย ฟื้นฟูการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ขยายพื้นที่ปลูกหม่อน 2 กลุ่ม พื้นที่รวม 5 ไร่ มีการเลี้ยงไหม 2 กลุ่ม รวมอาคารเลี้ยงไหม 5 หลัง และขยายพื้นที่ปลูกฝ้าย 2 งาน ทั้งมีการปลูกพืชไม้ให้สีเพื่อใช้สำหรับย้อมผ้าตามพื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม รวมถึงมีการแปรรูป/บรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมและทันสมัย มีการสร้างแบรนด์เพื่อการตลาด โดยมีโลโก้และแบรนด์ “นาหว้าโมเดล” ซึ่งเป็นตราสัญลักษ์พระราชทาน ฯ มีการจัดทำหนังสือนาหว้าโมเดลพร้อมตีพิมพ์ และมีการจำหน่ายสินค้าทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ โดยยอดจำหน่ายผ้าตั้งแต่เข้าร่วมโครงการ ฯ จนถึงปัจจุบัน (เมษายน 2565 ถึง กุมภาพันธ์ 2566) จำนวน 3,600,870 บาท ซึ่งแต่ละกลุ่มรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 และยังมีออเดอร์สั่งทอผ้าไหมและผ้าฝ้ายกว่า 500 เมตร คิดเป็นเงินสั่งซื้อประมาณ 600,000 บาท รวมถึงจังหวัดนครพนม ได้มีการเร่งเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนนาหว้าโมเดล ให้เป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่ความเจริญอย่างยั่งยืน มีการเตรียมปรับภูมิทัศน์ในบริเวณชุมชนของกลุ่มนาหว้าโมเดล บริเวณที่ทำการกลุ่มนาหว้าโมเดล และศูนย์ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม อีกทั้งปรับปรุงถนนให้มีความสะดวกสำหรับการเดินทางผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงานที่ชุมชน และส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ปลูกผักสวนครัว ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และการจัดทำถังขยะลดโลกร้อน ทั้งในระดับครัวเรือนและคุ้มบ้านในชุมชนของกลุ่มนาหว้าโมเดล บริเวณแหล่งเรียนรู้และที่ทำการกลุ่มนาหว้าโมเดล เตรียมออกแบบโครงสร้างศูนย์เรียนรู้ เพื่อขอรับสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างกับกรมการพัฒนาชุมชนต่อไป

ข้อมูล : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครพนม

ภาพ/ข่าว : งานสื่อสารองค์กร กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม

HOT LINK