รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • แสดงความยินดีกับทีมนักวิจัย ม.นครพนม ผ่านการคัดเลือก 5 ผลงาน ต่อยอดพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Village)

แสดงความยินดีกับทีมนักวิจัย ม.นครพนม ผ่านการคัดเลือก 5 ผลงาน ต่อยอดพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Village)

นางสาวผกายพัชร์ เจริญพันธ์ 2022-02-14 20:04:28 1,360

แสดงความยินดีกับทีมนักวิจัย ม.นครพนม ผ่านการคัดเลือก 5 ผลงาน ต่อยอดพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Village)

มหาวิทยาลัยนครพนม ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ประชุมหารือจับคู่ผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคมสำหรับชุมชนนาหว้า จังหวัดนครพนม ภายใต้โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ปี 2565 (Social Innovation Village) โดยมีนายสุมิตรชัย กันหาคุณ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาหว้า มหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวต้อนรับ มีนักวิจัย ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมประชุม ณ วิทยาลัยนาหว้า มหาวิทยาลัยนครพนม เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 

ดร.อำพล อาภาธนากร ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เปิดเผยถึงการจับคู่ผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคมสำหรับชุมชนนาหว้า จังหวัดนครพนม ว่า ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ได้เปิดรับสมัครนักวิจัย หรือบุคคลที่สนใจทั่วไป เข้ารับทุนเพื่อสร้างสรรค์และนำนวัตกรรมพร้อมใช้มาช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่เป้าหมายของชุมชนนาหว้า ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน - 25 ธันวาคม 2564 ใน 6 กลุ่มนวัตกรรม คือ นวัตกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นและการท่องเที่ยวชุมชน,นวัตกรรมด้านสัตว์เศรษฐกิจใหม่,นวัตกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร,นวัตกรรมการด้านการประมงและปศุสัตว์,นวัตกรรมด้านการเกษตร และนวัตกรรมการออกแบบและเครื่องจักรสำหรับหัตถกรรมพื้นถิ่น เช่น เครื่องจักรทอเสื่อกก เครื่องจักรตอกอัตโนมัติ โดยผ่านการคัดเลือกพิจารณาจากคณะกรรมการได้ 11 โครงการ ประกอบด้วย

1. การพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการวางแผนนโยบายการจัดการพื้นที่เกษตรอย่างยั่งยืน สำหรับหมู่บ้านเหล่าพัฒนา ต.เหล่าพัฒนา อ.นาหว้า จ.นครพนม ของ บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด

2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากต้นคล้า บ้านอุนนา อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ของ อาจารย์ ดร.คมศักดิ์ หารไชย มหาวิทยาลัยนครพนม

3. นวัตกรรมการผลิตอาหารสัตว์จากเศษฟางข้าว ของ บริษัท พี.อินทรีย์ (ประเทศไทย) จำกัด

4. กระบวนการผลิตพืชผักอินทรีย์แบบสมาร์ทฟาร์มเพื่อชุมชน ของ บริษัท พี.อินทรีย์ (ประเทศไทย) จำกัด

5. นวัตกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาด้านสิ่งทออัตลักษณ์ท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ของ ผศ.ดร.รัตนโชติ เทียนมงคล มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

6. นวัตกรรมเทคโนโลยีอนุรักษ์ลวดลายบนผืนผ้า ศูนย์หัตถกรรมวัดธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า ของ อ.ทิวาพร ศิริสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยนครพนม

7. ระบบเพาะเลี้ยงไผ่ลูกแคนเพื่อลดต้นทุนการผลิตเครื่องดนตรีอีสานบ้านท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ของ อ.อาทิตย์ ศิริสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยนครพนม

8. เครื่องทอกกอัตโนมัติ ของ อาจารย์ ดร.คมศักดิ์ หารไชย มหาวิทยาลัยนครพนม

9. โรงเรียนฟาร์มท้องถิ่น : การออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้และอัตลักษณ์ชุมชน ของ บริษัท กรีน ฟอร์ โกรว์ จำกัด

10. "สุนทรียะ-สุขภาวะ-สนุกะ" การออกแบบและพัฒนานวัตกรรมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อยกระดับกลุ่มผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมไปสู่ผู้ประกอบการทางการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านท่าเรือ ตำบลทำเรือ อำเภอ นาหว้า จังหวัดนครพนม ของ อาจารย์ ดร.ปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา มหาวิทยาลัยนครพนม

11. Local Arol : ท่องเที่ยว-ต่อยอดวัฒนธรรมชาติพันธุ์ทั้ง 5 กลุ่ม ผ่านอาหารและศิลปวัฒนธรรม ของ บริษัท โลเคิล ออลอท จำกัด

ซึ่งเจ้าของผลงานทั้ง 11 โครงการ ได้นำเสนอผลงานและนวัตกรรมเพื่อนำไปตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย 6 ตำบลของอำเภอนาหว้า ต่อผู้แทนภาคประชาสังคมในพื้นที่ ได้แก่ ตำบลนาหว้า ตำบลนาคูณใหญ่ ตำบลนางัว ตำบลท่าเรือ ตำบลเหล่าพัฒนา และตำบลบ้านเสียว 

ทั้งนี้ ในวันที่ 15 มีนาคม 2565 โดยทั้ง 11 โครงการจะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาอีกครั้งเพื่อรับทุนสนับสนุนดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ต่อไป

#NakhonPhanomuniversity #NPU #NPUThailand #มหาวิทยาลัยนครพนม #มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาชุมชน #นครพนม #งานวิจัย #Research #NIA #นวัตกรรม #Innovation #InnovationVillage

ภาพ/ข้อมูล : วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมศรีสงคราม มหาวิทยาลัยนครพนม

ข่าว : งานสื่อสารองค์กร กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม

HOT LINK