รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • ม.นครพนม ร่วมเวทีนโยบายสาธารณะประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือเพื่อการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์

ม.นครพนม ร่วมเวทีนโยบายสาธารณะประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือเพื่อการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2020-09-28 14:40:25 426

ม.นครพนม ร่วมเวทีนโยบายสาธารณะประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือเพื่อการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์

นางสาวจุฑาลักษณ์ แสนโท อาจารย์ประจำสาขาวิชาพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม เข้าร่วมเวทีนโยบายสาธารณะประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือเพื่อการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ โดยมีนายชัยวิชิต โกพลรัตน์ นักพัฒนาสังคม กลุ่มการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม เดินทางเข้าร่วมด้วย ณ อาคารหอประชุม ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา

การจัดเวที ฯ ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่างภาคีเครือข่ายจำนวน 32 องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และเครือข่ายเด็กและเยาวชน เพื่อวางแนวทางความร่วมมือในการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ นำไปสู่การขยายผลในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยออนไลน์อย่างเป็นระบบ โดยมีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นองค์ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สื่อโลกดิจิทัล กับโอกาสสร้างสรรค์เด็กและเยาวชนไทย” 

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การสร้างเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือภาคประชาสังคมก็ดี การดำเนินงานขับเคลื่อนต้องไปพร้อม ๆ ให้เป็นรูปธรรม และที่สำคัญคือต้องเปิดเวทีให้เด็ก-เยาวชน ได้มีส่วนร่วมในการแสดงออกทางความคิด เพราะเราทำงานร่วมกับกลุ่มเด็ก ซึ่งเด็ก ๆ เขาจะพบปัญหาและประการณ์จริงในพื้นที่ การขับเคลื่อนงานจะดำเนินการได้เร็วขึ้น โดยเรื่องนี้ทางรัฐบาลให้ความสำคัญอยู่แล้ว เพราะเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ต่าง ๆ ที่ผิดกฎหมายมากกว่า 900 เว็บไซต์แล้ว เช่น เว็บไซต์พนันออนไลน์ เว็บไซต์ลามกอนาจาร รวมถึงเว็บไซต์หรือเพจที่หมิ่นสถาบันเบื้องสูง เราต้องจัดการให้เด็ดขาดเพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อทางสังคม นายพุทธิพงษ์ กล่าว.

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันเรายอมรับว่าสื่อสามารถเข้าถึงทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม เป็นเรื่องที่น่ากังวลมากเพราะจากข้อมูลพบว่าเด็กอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมากกว่า 3-4 ชม./วัน โดยข้อมูลที่เปิดรับเข้าไปส่วนใหญ่ 1 ใน 3 คือข้อมูลที่บิดเบือน ถือว่าสูงมาก ซึ่งยังไม่รวมกับการหลอกลวงทางเพศ เราต้องย้อนกลับมาดูว่าจะส่งเสริมอย่างไรให้เด็กและเยาวชนมีทักษะรู้เท่าทันสื่อพวกนี้ได้ แต่เวลาที่เราจัดการกับปัญหานี้เราไม่ได้โฟกัสที่เด็กอย่างเดียว ผู้ใหญ่หรือคนในครอบครัวต้องมีส่วนร่วมในการหล่อหลอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ระบบกฎหมายที่ครอบคลุม ระบบการเฝ้าระวัง หรือแม้กระทั่งคนที่ทำงานด้านสื่อต้องคิดทบทวนกันใหม่ด้วย นพ.ไพโรจน์ กล่าว.

นายธนวัฒน์ พรหมโชติ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทสไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางสภาเด็กและเยาวชนเราได้ทำหน้าที่สร้างการรับรู้ให้กับเด็กในมิติต่าง ๆ โดยเรื่องที่เราได้พยายามสื่อสาร คือ เกี่ยวกับเรื่องเพศ ความรุนแรง ซึ่งเราได้พยายามให้น้อง ๆ ได้รณรงค์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการดำเนินงานในสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด การขับเคลื่อนงานของสภาเด็กและเยาวชนตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ถือว่ามีความสำคัญมาก เมื่อเด็กได้ลงมือปฏิบัติแล้วผู้ใหญ่ควรให้การสนับสนุนอำนวยความสะดวกให้กับเด็ก เพราะการที่จะให้เด็กคิด เด็กทำ เขาคือคนที่รู้ปัญหาดีที่สุด เขาเจอปัญหาเอง เขารู้สถานการณ์เอง เขาสามารถทบทวนแนวทางด้วยตัวเขาเอง และเมื่อเขารู้ปัญหาเขาจะหาวิธีทางเอาตัวรอดได้ และการที่จะเอาความคิดจากเขามาเป็นเครื่องมือให้กับประเทศไทยหรือหน่วยงานต่าง ๆ ผมคิดว่าจะได้ประสิทธิภาพไม่มากก็น้อย นายธนวัฒน์ กล่าว.

นางสาวจุฑาลักษณ์ แสนโท อาจารย์ประจำสาขาวิชาพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ผู้ขับเคลื่อนงานคุ้มครองเด็กเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากสื่อออนไลน์ในพื้นที่จังหวัดนครพนม กล่าวว่า จังหวัดนครพนมถึงจะเป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่อยู่ติดกับชายแดน แต่เรื่องของภัยออนไลน์ไม่ได้จำกัดเฉพาะขอบเขตนั้น ๆ ซึ่งตรงนี้เองทำให้กลุ่มของเราที่ทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนมเห็นความสำคัญที่จะปกป้องคุ้มครองเด็กไปพร้อม ๆ กัน และจากการสำรวจข้อมูลผลกระทบจากภัยออนไลน์ที่มีต่อเด็กและเยาวชนในจังหวัดนครพนมนั้น เราทราบว่าเด็กใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์มากกว่า 5-10 ชม./วัน ส่วนใหญ่เป็นประเด็นเรื่องเกมออนไลน์ การพนันออนไลน์ พบว่าเด็กนำเงินค่าเทอมที่ได้จากผู้ปกครองไปใช้จ่ายเติมเงินเล่นการพนัน ทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องการเรียน สุขภาพ รวมถึงปัญหาครอบครัวที่ตามมา ทางกลุ่มเราได้ทำงานร่วมกับตัวแทนเครือข่ายเด็กและเยาวชนในจังหวัดนครพนมผ่าน NKP Model หรือ นครพนมโมเดล ที่ขับเคลื่อนด้วยเครือข่ายความรู้ การปกป้องคุ้มครองเด็ก ไปยังศูนย์คุ้มครองเด็กในตำบลต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้เราได้ทำไปแล้ว 3 ศูนย์ คือ ศูนย์คุ้มครองเด็กในตำบลรามราช ศูนย์คุ้มครองเด็กในตำบลนาถ่อน และศูนย์คุ้มครองเด็กในตำบลบ้านผึ้ง และในอนาคตตราบใดที่เด็กยังอยู่กับโลกออนไลน์ แนวทางการปกป้องคุ้มครองเด็กของเราก็ต้องเดินต่อไปเรื่อย ๆ โดยเป้าหมายหลักเรามุ่งเน้นที่จะขยายเครือข่ายให้มากขึ้น และครบทั้ง 12 อำเภอ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการกระตุ้นให้เกิดความตระหนักตื่นรู้เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อของเด็กเยาวชน ผู้ปกครองถือเป็นส่วนสำคัญที่จะหลอมรวมให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น ส่วนเวทีประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือเพื่อการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ในวันนี้นั้น ทำให้เราได้เห็นพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ที่พร้อมจะเป็นเกราะป้องกันภัยออนไลน์ให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างพลเมืองที่ดีให้กับสังคมไทยในอนาคต.

ภาพ/ข่าว : งานวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร กองกลาง (กองบริหารงานทั่วไป) สำนักงานอธิการบดี

อัลบั้มภาพข่าวทั้งหมด : https://www.facebook.com/media/set/?vanity=npufamily&set=a.704271846964864

HOT LINK