รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • มนพ. จับมือ NIA และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ลงพื้นที่ชุมชน หนุนสร้าง “หมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ปี 2563” ณ ชุมชนท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม

มนพ. จับมือ NIA และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ลงพื้นที่ชุมชน หนุนสร้าง “หมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ปี 2563” ณ ชุมชนท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม

นางสาวอรปวีณ์ บัวชู 2020-02-04 15:42:18 1,568

มนพ. จับมือ NIA และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ลงพื้นที่ชุมชน หนุนสร้าง “หมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ปี 2563” ณ ชุมชนท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 มหาวิทยาลัยนครพนม ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และชาวบ้านบ้านท่าเรือ หมู่ที่ 1, 2, 8 ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เพื่อศึกษาบริบท ความเป็นไปได้ ในพื้นที่จากโจทย์ปัญหาชุมชน ก่อนดำเนินการจัดทำข้อเสนอโครงการ เพื่อพัฒนาชุมชนไปสู่ “หมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ปี 2563” ในโครงการเปิดรับผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมที่พร้อมขยายผลสู่พื้นที่เป้าหมาย Social Innovation Village จัดโดยฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ณ ศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม บ้านท่าเรือ จังหวัดนครพนม

อาจารย์ ดร.อนิรุทธิ์  ผงคลี รองอธิการบดี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนครพนมได้ดำเนินงานด้านบริการวิชาการในพื้นที่ชุมชนท่าเรือ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชน โดยการลงพื้นที่ของนักศึกษาและคณาจารย์จากวิทยาลัยนาหว้า มหาวิทยาลัยนครพนม และได้ให้ความรู้ในการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย การเพิ่มยอดขาย สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ตั้งแต่ปี 2561 และได้พบว่า ชุมชนท่าเรือ ตำบลท่าเรือ จังหวัดนครพนม เป็นกลุ่มชุมชนที่มีความเข้มแข็ง มีทรัพยากรด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม มีมูลค่าเศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน แต่ยังประสบปัญหา การขาดองค์ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ และการบูรณาการเชื่อมโยง ผู้ประกอบการ อีกทั้ง ผู้ที่อาศัยในชุมชนยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ขาดวัยรุ่นหนุ่มสาว ดังนั้น การแก้ปัญหาในชุมชน โดยคนในชุมชน และการบูรณาการโดยการจับมือกับหน่วยงานที่เป็นองค์กรที่มีความรู้ ในด้านต่างๆ  จะเป็นการผนึกกำลังสร้างชุมชนเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืนต่อไป และจะช่วยสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง และเป็นต้นแบบหมู่บ้านที่มีชีวิต ตลอด 365 วัน เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจในชุมชนได้อย่างเป็นระบบทั่วประเทศได้

ดร.อำพล  อาภาธนากร ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(NIA) กล่าวว่า โครงการ Social Innovation Village หมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม 2563 เป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริม พัฒนา ปรับปรุงระบบนิเวศ แก้ไขปัญหา และสนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวบ้านแต่ละชุมชนให้ดีขึ้นทั่วประเทศ ตามโจทย์ปัญหาที่แต่ละชุมชนต้องการ โดยในปี 2563 ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย เพื่อเป็นต้นแบบการขยายผล 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.ชุมชนแคนดง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์  2.ชุมชนท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม และ 3.ชุมชนหนองตะเคียนบอน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีโจทย์ปัญหาที่แตกต่างกัน โดย NIA ได้เปิดรับผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมจากผู้สนใจเข้าร่วมเขียนข้อเสนอเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั้นๆ จากทั่วประเทศ เพื่อร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตคนในท้องถิ่น

ทั้งนี้ สำหรับ พื้นที่เป้าหมาย ชุมชนท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เป็นพื้นที่ในเขตการให้บริการวิชาการสู่ชุมชน ของมหาวิทยาลัยนครพนม รับผิดชอบหลักโดย วิทยาลัยนาหว้า มหาวิทยาลัยนครพนม มีโจทย์ปัญหาในชุมชน เพื่อร่วมจัดทำข้อเสนอโครงการฯ ดังต่อไปนี้

1.นวัตกรรมการท่องเที่ยวชุมชนและวัฒนธรรม

2.การบริหารจัดการน้ำ เช่น การจัดการน้ำสำหรับการปลูกไผ่

3.นวัตกรรมการตลาดสำหรับสินค้าชุมชน เช่น แคน โหวด พิณ

4.นวัตกรรมการแปรรูปผลผลิตการเกษตร

5.นวัตกรรมด้านปศุสัตว์ เช่น กระบือไทย


คุณสมบัติผู้ยื่นผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม

1.นิติบุคคล ได้แก่ บริษัท/หจก./วิสาหกิจเริ่มต้น/วิสาหกิจเพื่อสังคม/วิสาหกิจชุมชน/สมาคม/มูลนิธิ

2.อาจารย์และนักวิจัย

3.ผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้

สำหรับผู้ที่สนใจเขียนข้อเสนอโครงการ ร่วมสร้าง "หมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ปี2563" สามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ : https://www.nia.or.th/SocialInnovationVillage2020

ภาพ/ข่าว : งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยนครพนม

HOT LINK