รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • นักศึกษา มนพ. เข้าร่วมแสดงผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาอัสสัมชุมชนนาจอก ในโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น

นักศึกษา มนพ. เข้าร่วมแสดงผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาอัสสัมชุมชนนาจอก ในโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น

นางสาวอรปวีณ์ บัวชู 2019-11-17 14:59:39 964

นักศึกษา มนพ. เข้าร่วมแสดงผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาอัสสัมชุมชนนาจอก ในโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัฒนพงษ์  วันจันทึก รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ดร.สุดา สุวรรณาภิรมย์ รองอธิการบดี นำทีมตัวแทนนักศึกษาและอาจารย์ประจำกลุ่ม ผลิตภัณฑ์ชาอัสสัม บ้านนาจอก จังหวัดนครพนม ในนาม The best มหาวิทยาลัยนครพนม จากโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นมหาวิทยาลัยนครพนม ร่วมกับธนาคารออมสิน เข้าร่วมโครงการความร่วมมือระหว่างธนาคารออมสินกับสถาบันอุดมศึกษา ภายใต้โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น และโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ นพ.สรนิต  ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน ณ ห้องราชาบอลรูม โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร

โครงการดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือจากธนาคารออมสินกับสถาบันอุดมศึกษา 56 แห่งทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมแก่ผู้มีรายได้น้อย โดยในปี พ.ศ. 2562 ดำเนินโครงการกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 56 แห่ง มีชุมชนทั้งสิ้น 411 ชุมชน โดยเน้นการส่งเสริมศักยภาพกลุ่มองค์กรชุมชน ประเภทกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP หรือกลุ่มอาชีพในชุมชน เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ซึ่งก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างองค์กรชุมชนสถาบันอุดมศึกษาและธานาคารออมสินในการทำงานร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง สร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม การทำงานต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

รองศาสตราจารย์ ดร.สุดา สุวรรณาภิรมย์ รองอธิการบดี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนครพนม ได้เข้าร่วมโครงการฯ เป็นปีแรก และมีกลุ่มพื้นที่ชุมชนที่นักศึกษาได้ลงพื้นที่ 7 ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยนครพนม ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์ชาอัสสัม ชุมชนนาจอก 2.ผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวชุมชนท่าค้อ 3.ผลิตภัณฑ์ปาร้าฟูชุมชนบ้านโพน 4.ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าชุมชนศรีเวินชัย 5.ผลิตภัณฑ์ผ้าครามชุมชนนาหว้า 6.ผลิตภัณฑ์เครื่องดนตรีอีสานชุมชนท่าเรือ และ 7.ผลิตภัณฑ์เหลือสปาชุมชนดงป่ายูง ซึ่งแต่ละชุมชน นักศึกษาได้ลงไปช่วยชาวบ้านในเรื่องการสอนทำบัญชี รายรับ-รายจ่าย ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในชุมชน และได้เรียนรู้การทำงานนอกห้องเรียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่นักศึกษาได้เรียนมากับชาวบ้านจริงๆ นับเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยให้คนรุ่นใหม่เห็นประโยชน์และช่วยกันในเรื่องต่างๆ 

“และในปีต่อไป มหาวิทยาลัยนครพนม ได้ตั้งเป้าหมายในการลงพื้นที่ชุมชนผ่านงานบริการวิชาการ ในอีกหลายพื้นที่ เพื่อให้นักศึกษาและอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ได้เข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากต่อไป”

ภาพ/ข่าว : เครือข่ายประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยนครพนม

HOT LINK