รอบรั้วกันเกรา

"เรือไฟโบราณ" พิธีกรรมความเชื่อของคนชาวอีสาน

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2019-10-12 16:20:36 704

มหาวิทยาลัยนครพนม ร่วมกับจังหวัดนครพนม การท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.) สำนักงานนครพนม และชุมชน ประดิษฐ์เรือไฟโบราณกว่า 10 ลำ เพื่อประกอบพิธีในวันออกพรรษาตามความเชื่อของคนท้องถิ่น

“เรือไฟโบราณ” มักนิยมทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (วันออกพรรษา) เป็นประเพณีโบราณของชาวอีสาน โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยในแถบลุ่มแม่น้ำโขง โดยมาจากคติความเชื่อที่ว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท ที่ประทับไว้ริมฝั่งแม่น้ำนัมทานที ประเทศอินเดีย หรือการบูชาพระพุทธเจ้าที่เสด็จกลับลงมาสู่โลกมนุษย์ หลังจากขึ้นไปเทศนาโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือที่เรียกว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก” โดยผสมผสานกับคติความเชื่อท้องถิ่น ในการสักการะท้าวผกาพรหม การขอขมาและบูชาพระแม่คงคา ตลอดจนการบูชาพญานาค การขอฝน และการสะเดาะเคราะห์ เผาความทุกข์ให้ลอยไปตามสายน้ำ

ชาวจังหวัดนครพนมได้เรียนรู้ สั่งสม และสืบทอดภูมิปัญญา ศิลปะการสร้างเรือไฟมาแต่โบราณ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ทุกวันนี้เรือไฟจะมีความยิ่งใหญ่ตามวันเวลา แต่ยังคงมีการอนุรักษ์เรือไฟต้นฉบับแบบดั้งเดิม ในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาเรือไฟให้ทันสมัยทั้งรูปแบบ ความงาม และเพิ่มเทคนิคการนำเสนอที่ตื่นตาตื่นใจ ส่วนสิ่งของที่คนส่วนใหญ่นิยมนำมาใส่กระทงก่อนนำไปลอยน้ำโขง คือ เส้นผม เล็บมือ พร้อมเขียนชื่อ-นามสกุล ใส่ลงในกระดาษ เพื่อนำไปลอยให้หายทุกข์หายโศกตามความเชื่อ

โดยปีนี้มหาวิทยาลัยนครพนม ได้จัดกิจกรรมสาธิตการประดิษฐ์เรือไฟโบราณให้กับผู้มาเที่ยวงาน และเพื่อให้ประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยว ได้ร่วมกิจกรรมตามพิธีกรรมความเชื่อในคืนวันวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันออกพรรษา ณ บริเวณริมน้ำโขง หน้าวัดโพธิ์ศรี อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม

ภาพ/ข่าว : งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนครพนม

อัลบั้มภาพข่าวทั้งหมด : https://www.facebook.com/pg/npufamily/photos/?tab=album&album_id=466337557424962&__tn__=-UC-R

HOT LINK