รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • เรียนรู้และเข้าใจพลังของอาเซียนจากมุมมองคนท้องถิ่น โดย ดร.ปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา

เรียนรู้และเข้าใจพลังของอาเซียนจากมุมมองคนท้องถิ่น โดย ดร.ปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2019-01-28 13:39:17 688

เรียนรู้และเข้าใจพลังของอาเซียนจากมุมมองคนท้องถิ่น โดย ดร.ปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา

นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการ โดยประกาศแนวคิดหลักคือ “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ไทยได้เริ่มทำหน้าที่ประธานอาเซียนมาประมาณหนึ่งเดือนแล้ว และเริ่มต้นด้วยความแข็งขัน ตลอดทั้งปีไทยจะต้องเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในระดับผู้นำ รัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่อาวุโส รวมทั้งระดับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องประมาณ 180 ครั้ง ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมือที่หลากหลายของอาเซียน

การประชุมระดับรัฐมนตรีที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดเป็นครั้งแรกคือ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Retreat) เมื่อวันที่ 17-18 มกราคม 2562 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ประสบความสำเร็จด้วยดี ประเด็นหนึ่งที่ได้มีการหารือคือเรื่องการดำเนินการตามแผนแม่บทความเชื่อมโยงอาเซียน 2025 ซึ่งรวมถึงความเชื่อมโยงในภูมิภาคและระหว่างอาเซียนกับภูมิภาคอื่น (connecting the connectivities) และยังเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับท้องถิ่นด้วย เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่มีชายแดนติดกันหรือใกล้กับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ คือ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนของการพัฒนาในกลุ่มประเทศอาเซียนจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน รวมทั้งจากภาควิชาการในทุกระดับที่มีบทบาทในการเรียนการสอน การวิจัยและการสื่อสารความรู้ความเข้าใจประเด็นวาระ บทบาทและการทำงานของอาเซียนไปสู่นักเรียน-นักศึกษา ผู้ประกอบการ และสังคมในวงกว้าง องค์ความรู้ด้านอาเซียนศึกษาได้รับการบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนในทุกระดับ ในขณะที่งานวิจัยในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเสาหลักทั้งสามของประชาคมอาเซียนจัดเป็นหนึ่งในประเด็นยุทธศาสตร์การวิจัยระดับชาติสำคัญที่ได้รับการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องโดยหน่วยงานจัดสรรทุนวิจัยและ สถาบันวิจัยและวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยในทุกภูมิภาค

มหาวิทยาลัยนครพนม เป็นมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้การบริหารของ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม ผู้บริหารและบุคลากรสายวิชาการของมหาวิทยาลัยต่างให้ความสำคัญแก่อาเซียนในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองโดยมีจุดเน้นที่ความร่วมมือระดับภูมิภาคกับลาวและเวียดนาม เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยให้สามารถเป็นที่พึ่งของท้องถิ่นและเป็นทั้งผู้นำและผู้สนับสนุนท้องถิ่นในการสานสร้างความร่วมมือข้ามท้องถิ่นข้ามภูมิภาค โดยมุ่งที่ผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของประชาคมอาเซียน ความเข้มแข็งของชุมชน และความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ทุกฝ่ายจะได้รับร่วมกัน

จุดเด่นของการบูรณาการองค์ความรู้เรื่องอาเซียนกับการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยนครพนมคือการจัดให้มีการเรียนการสอนกลุ่มวิชาศึกษาทั่วไป ได้แก่วิชาอาเซียนศึกษาและวิชาสังคมต่างวัฒนธรรมใน อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) รวมถึงการผลิตบัณฑิตที่มีทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ ได้แก่ภาษาเวียดนาม ภาษาลาวและภาษาจีน ทั้งนี้เพื่อให้ความรู้และเตรียมความพร้อมในทักษะการทำงานในระดับข้ามภูมิภาคให้แก่นักศึกษา ในด้านงานวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยนครพนมใช้จุดเด่นในฐานะจุดเชื่อมต่อข้ามภูมิภาคกับลาวและเวียดนามจัดตั้งศูนย์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อผลิตและเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ในการสานรวมพลังของอนุภูมิภาคเพื่อพัฒนานครพนมเชื่อมกับการพัฒนาภาคกลางของลาวและเวียดนามให้สอดรับกับกระแสโลกาภิวัตน์และบูรพาภิวัตน์

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้ให้ความสำคัญในการพัฒนากิจกรรมความร่วมมือภายใต้กรอบบันทึกข้อตกลง (MOU) ด้านการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและศิลปวัฒนธรรมกับมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศอาเซียนหลายแห่ง รวมถึงโรงเรียนมัธยมศึกษาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ข้ามท้องถิ่น เช่นร่วมมือกับโรงเรียนเทศบาลประจำจังหวัดนครพนมจัดโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและศิลปวัฒนธรรมกับโรงเรียนมัธยมในจังหวัดฮาติงห์ เวียดนาม

ดังนั้น ในมุมมองของนักวิชาการและนักเรียน นักศึกษาในจังหวัดนครพนม อาเซียน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของนักศึกษาในท้องถิ่นอีสาน แต่หลายคนอาจจะมองข้ามเรื่องบทบาทและการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นอีสานในการพัฒนาความเป็นประชาคมของอาเซียน โดยเฉพาะในมิติทางการศึกษา ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยนครพนม ผู้เขียนขอเสนอว่าเราสามารถและจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจอาเซียนจากฐานรากหรือในระดับท้องถิ่นและความสัมพันธ์ข้ามท้องถิ่นข้ามภูมิภาคภายในประชาคมอาเซียน ไม่น้อยไปกว่าความเข้าใจในระดับรัฐต่อรัฐ ความหมายของการเป็นประชาคมในที่สุดแล้วมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกัน

ท้องถิ่นจึงเป็นจุดพัฒนาอย่างยั่งยืนและจักรกลขับเคลื่อนความสำเร็จที่ขาดไม่ได้ในการจะบรรลุผลตามเป้าหมายของประชาคมอาเซียนในแต่ละด้าน และศักยภาพของท้องถิ่นจะแปรเป็นพลังปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพถ้าได้ทำงานยุทธศาสตร์เชิงรุกร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่นเปิดประตูความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นเพื่อนบ้าน โดยใช้โครงการที่ยังประโยชน์ร่วมกันจากความต้องการของท้องถิ่นแต่ละแห่งเอง และจากโอกาสในการเรียนรู้ร่วมกันที่จะเกิดขึ้นตามมา

สำหรับข้อเสนอในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยนครพนมในด้านอาเซียนศึกษา ผู้เขียนขอเสนอว่ามหาวิทยาลัยสามารถเป็นข้อต่อสำคัญให้แก่การพัฒนาประชาคมอาเซียนด้านสังคมและวัฒนธรรมในหลายทางด้วยกัน กล่าวสรุปโดยสังเขปได้ดังนี้

หนึ่ง การเรียนวิชาอาเซียนศึกษาควรมีการบูรณาการกับหลากหลายสาขาวิชา อาทิ วิชารัฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือแม้กระทั่งสาขาวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรมในมุมมองของนักมานุษยวิทยา การสอนวิชาอาเซียนในลักษณะบูรณาการนี้ช่วยเปิดมุมมองของนักศึกษาให้เข้าใจอาเซียนอย่างรอบด้านและลุ่มลึก จากการพูดคุยกับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนครพนม ผู้เขียนพบว่านักศึกษามีพื้นฐานทางความรู้ในเรื่องสังคม-วัฒนธรรมอาเซียนอยู่ก่อนแล้ว เช่นประวัติการก่อตั้งประชาคมอาเซียน อาหารประจำชาติ การแต่งกาย

แต่นักศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่าอาเซียนมีบทบาทอย่างไรในชีวิตประจำวันของตน หรือประชาคมอาเซียนมีผลอย่างไรต่อการประกอบอาชีพของตนในอนาคต ดังนั้น การออกแบบเนื้อหาการเรียนการสอนอาเซียนแบบบูรณาการองค์ความรู้ ผู้เขียนเริ่มจากการศึกษาพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และฐานทรัพยากร โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาษาในอาเซียน และควรเน้นย้ำถึงโอกาสในการศึกษาต่อและทำงาน รวมถึงการทำความเข้าใจสังคมวัฒนธรรมอื่นอย่างให้ความเคารพ ให้ความสำคัญกับความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรมและไม่ตัดสินหรือวิจารณ์วัฒนธรรมที่ต่างจากตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เขียนให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจอาเซียนในฐานะที่เป็นตัวแทนของสังคมพหุวัฒนธรรม ในแนวคิดนี้ อาเซียนสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกในการเชื่อมต่อกันระหว่างคนในสังคมต่างวัฒนธรรม

สอง วิชาอาเซียนศึกษาควรเปิดโอกาสให้นักศึกษามีทักษะในการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในท้องถิ่นและสังคมโลก เข้าใจถึงบริบทของโลกปัจจุบันที่มีการปะทะกันระหว่างกระแสโลกาภิวัตน์และธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติของท้องถิ่น รวมถึงสถานการณ์การเมืองโลกร่วมสมัยความขัดแย้งและผลกระทบของสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิตัล (technology disruption) ที่มีต่อภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม สื่อสารมวลชน ตลาดแรงงานและการศึกษาในประชาคมอาเซียน

การออกแบบเนื้อหาวิชาอาเซียนศึกษาให้สัมพันธ์กับสถานการณ์โลกปัจจุบันนอกจากจะช่วยขยายพรมแดนทางความรู้ให้แก่นักศึกษาให้มีความกว้างขวางมากขึ้นแล้ว มีส่วนช่วยผลักดันและขับเคลื่อนชุมชนและสังคมในท้องถิ่นระดับรากหญ้าให้ก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาคและระดับโลก

สาม การออกแบบหลักสูตรและการเรียนการสอน รวมถึงการทำกิจกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างคณาจารย์ นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรสายวิชาชีพทั้งจากภาครัฐและเอกชนควรหาเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กัน ดังเช่นการจัดเสวนาอาเซียนสัญจรเรื่อง “อาเซียนกับการมีบทบาทและการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นอีสาน” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยนครพนมร่วมกับสมาคมอาเซียน-ประเทศไทย (ASEAN Association-Thailand: AAT) ในการเสวนาครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโดยเฉพาะบุคลากรสายวิชาการที่มีประสบการณ์ในการสอนรายวิชาอาเซียนศึกษาในจังหวัดนครพนม รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนกันทางวิชาการและศิลปะวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศอาเซียน ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ นายกสมาคมอาเซียนประเทศไทยและคณาจารย์และนักศึกษาในจังหวัดนครพนมเช่นนี้ ช่วยสะท้อนว่าการทำความเข้าใจประชาคมอาเซียนสามารถทำได้มากกว่าระดับนโยบายซึ่งเป็นไปในลักษณะ “บนลงล่าง” (Top Down) เราสามารถทำความเข้าใจและเรียนรู้เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับอาเซียนศึกษาจาก “ฐานราก” (Bottom Up) ซึ่งประชาชนทุกคนมีสามารถเข้าถึงได้

ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่าการเปิดโอกาสให้แก่การมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นเข้ามาร่วมกำหนดและร่วมดำเนินการไปสู่ประชาคมอาเซียนจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้องค์ความรู้ที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของท้องถิ่นและภูมิภาค ตลอดจนความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนกับประชาชนที่จะเป็นรากฐานมั่นคงอันไม่มีอะไรทดแทนได้สำหรับประชาคมอาเซียน

บทความโดย : ดร.ปุณณฑรีย์ เจียวิริยบุญญา คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนครพนม

HOT LINK